BangkokWashington D.C.Frankfurt      Sydney           Tokyo
December 2023
Mo Tu We Th Fr Sa Su
27 28 29 30 1 2 3
4 5 6 7 8 9 10
11 12 13 14 15 16 17
18 19 20 21 22 23 24
25 26 27 28 29 30 31

สำหรับเจ้าหน้าที่

ตารางบรรยายย้อนหลัง

แนะนำมหาวิทยาลัย

เครือข่ายการจัดการศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

         มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาโดยมีจุดยืนและภารกิจทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ยึดหลักการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับสังคม มีคุณภาพมาตรฐานสูง และมีความเป็นสากล จัดการเรียนการสอนครบทุกระดับ รวม 117 หลักสูตร คือ ระดับปริญญาตรี (69) ปริญญาโท (33) ปริญญาเอก (15) หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ หลักสูตรทุกระดับของมหาวิทยาลัยมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน มีการจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งสามารถตรวจสอบได้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาก้าวไกลไร้พรมแดน ได้ขยายเครือข่ายการจัดการศึกษาอย่างกว้างไกลหลายรูปแบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคงไว้ซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ เครือข่ายการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงสรุปได้ ดังนี้  

         1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เป็นสถานที่ตั้งที่ทำการของทุกคณะ/สำนัก/สถาบันต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางการบริหารและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ

         2. มหาวิทยาลัยรามคำแหง บางนา กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ถนนบางนา – ตราด เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนกระบวนวิชาชั้นปีที่ 1 ของระดับปริญญาตรี และใช้เป็นสถานที่สอนระดับปริญญาโทบางโครงการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ

         3. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาคจัดตั้งตามลำดับ ดังนี้ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุทัยธานี นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ นครพนม แพร่ นครราชสีมา สุโขทัย ขอนแก่น ศรีสะเกษ ตรัง ลพบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ อุดรธานี กาญจนบุรี สุรินทร์ เชียงราย สงขลา เชียงใหม่ และพังงา

         4. ศูนย์สอบส่วนภูมิภาคสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี 41 แห่งใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ การจัดสอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากจัดสอบที่ส่วนกลาง ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) และวิทยาเขตบางนาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีในส่วนภูมิภาคสอบใกล้บ้าน โดยจัดให้มีศูนย์สอบส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่าง ๆ ขึ้น ๓๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี เลย ลพบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง และพังงา

         5. การเปิดสอนหลักสูตรโครงการพิเศษจังหวัดในส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโครงการพิเศษขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหลายจังหวัด

         6. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ ขยายการให้โอกาสทางการศึกษาสู่ต่างประเทศ 32 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สาธารณรัฐฟินแลนด์ บาห์เรน รัฐสุลต่านโอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัฐกาตาร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม

         7. ศูนย์สอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในประเทศต่าง ๆ 41 แห่งทั่วโลก โดยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ ณ ประเทศนั้น ๆ ได้แก่ กรุงออตตาวา นครแวนคูเวอร์ กรุงวอชิงตัน ดี ซี นครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส นครชิคาโก กรุงบรัสเซลส์ กรุงปารีส กรุงเบอร์ลิน นครแฟรงก์เฟิร์ต กรุงเรคยาวิก กรุงโรม กรุงเฮก กรุงวอร์ซอ กรุงมาดริด กรุงเบิร์น กรุงเวียนนา กรุงลอนดอน กรุงโคเปนเฮเกน กรุงออสโล กรุงสตอกโฮล์ม กรุงเฮลซิงกิ กรุงมานามา กรุงมัสกัต นครดูไบ กรุงโดฮา กรุงแคนเบอร์รา นครซิดนีย์ กรุงเวลลิงตัน กรุงพนมเปญ กรุงนิวเดลี กรุงจาการ์ตา กรุงโตเกียว นครโอซากา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงโซล สิงคโปร์ กรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว เมืองเซี่ยเหมิน นครโฮจิมินห์ (และยังจัดให้มีศูนย์สอบพิเศษที่ประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ)

         8. สถาบันการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำการเปิดสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทุกกระบวนวิชาของทุกหลักสูตรดำเนินการสอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ทางด้านการสอนสูงที่เชิญมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงชั้นนำทั่วโลก บรรยากาศการเรียนการสอนจึงเปรียบเสมือนยกห้องเรียนจากต่างประเทศมาไว้ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกเรียนที่สถาบันการศึกษานานาชาติ นอกจากนักศึกษาที่มาเรียนหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ยังมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาเรียนรายกระบวนวิชาระดับปริญญาตรีที่สถาบันการศึกษานานาชาติ

         9. หน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ประกอบด้วย คณะ/สถาบัน และบัณฑิตวิทยาลัย ดังนี้ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะสื่อสารมวลชน คณะทัศนมาตรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันการศึกษานานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีโครงการที่จะเปิดคณะใหม่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดแรงงาน

         10. สถาบัน/สำนัก ที่สนับสนุนการเรียนการสอนและการบริหาร ประกอบด้วย สำนัก สถาบัน ดังนี้ สำนักงานอธิการบดี สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล สำนักหอสมุดกลาง สำนักพิมพ์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา สำนักกีฬา สำนักประกันคุณภาพการศึกษา สำนักวิทยบริการ สถาบันคอมพิวเตอร์ สถาบันศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน สถาบันบริการวิชาการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ และสำนักงานของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค อีก ๒๓ หน่วยงาน ซึ่งสังกัดสำนักงานอธิการบดี

         11. ความร่วมมือทางวิชาการ/วิจัยกับสถาบัน/มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ 20 แห่ง ใน 12 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่น ๆ และยังมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรในประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือในประเทศ จำนวน 23 ฉบับ

         12. บริการการเรียนการสอนผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปยังผู้เรียนทั่วประเทศและทั่วโลก พร้อมทั้งพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็น e-University ที่สมบูรณ์แบบ

         13. บริการ “การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ Tablet ฯลฯ”

         14. ขยายการให้ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวางเพื่อช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน โดยจัดโครงการฝึกอบรม สอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ฯลฯ

         15. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เปิดสอนภาคภาษาไทย และ โครงการภาษาอังกฤษ

         16. โรงเรียนสาธิตฯ (ฝ่ายประถม) เปิดสอนทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ

         17. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (วิทยาเขตบางนา) เปิดสอนในปีการศึกษา พ.ศ. 2562

         18. เครือข่ายโครงการโรงเรียนต้นแบบเข้าสู่ระบบสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงเต็มรูปแบบในส่วนภูมิภาค อีกหลายโรงเรียน

********************************************************************

แหล่งข้อมูล: หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จัดทำโดย: สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ต่างประเทศ

  (ข้อมูล เดือนมิถุนายน 2565)

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

*******************************

•  ชื่อมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
          (ชื่อของมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหา กษัตริย์ไทยที่ได้ทรงริเริ่มคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้มีอักษรไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติไทยใช้กันต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้)

•  อักษรย่อ คือ ม.ร.

  ชื่อมหาวิทยาลัยภาษาอังกฤษ  คือ Ramkhamhaeng University

  อักษรย่อ คือ RU

  ปี พ.ศ. ที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย คือ พ.ศ. 2514
          มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบ “ตลาดวิชา”

  วันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ 26 พฤศจิกายน

          วันสำคัญที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงรำลึกอยู่ในความทรงจำตลอดมา คือ วันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน ปีพุทธศักราช  2518 เป็นวันมหามงคลยิ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) พร้อมทั้งพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

          ในวโรกาสมหามงคลยิ่งนี้ มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง นับแต่บัดนั้นมา ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 จะเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 52 ปี และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 53 ปี ตามลำดับ ชาวรามคำแหงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทุกคน ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ตลอดมา...และจะสถิตอยู่ในดวงใจของชาวรามคำแหงทุกคน...ตลอดไป

  เครื่องหมายราชการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง* (ตราประจำมหาวิทยาลัย) คือ

                          

*ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 148 วันที่ 16 กันยายน 2526 (ฉบับพิเศษ หน้า 1 –  หน้า 3)

  สีประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง  คือ “สีน้ำเงิน-ทอง”

  ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหงคือ “สุพรรณิการ์” (ฝ้ายคำ)

          เมื่อวันที่ 15 เดือนมกราคม ปีพุทธศักราช  2542 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพันธุ์ไม้ชื่อ “สุพรรณิการ์” (ฝ้ายคำ) ให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานพันธุ์ไม้ชื่อ “สุพรรณิการ์” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง

  เอกลักษณ์: มหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาควบคู่แบบจำกัดจำนวน

  อัตลักษณ์: ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม

  วิสัยทัศน์: มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นตลาดวิชาดิจิทัล ที่ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

•  ค่านิยมองค์การ: ซื่อสัตย์  จริงใจ  โปร่งใส  ยุติธรรม  และภักดีต่อองค์กร

•  ปรัชญาส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม

•  ปณิธาน: พัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นแหล่งวิทยาการแบบตลาดวิชาควบคู่แบบจำกัดจำนวน มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม และจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม

  พันธกิจ: มหาวิทยาลัยยึดหลักการจัดการอุดมศึกษา ในการรับผิดชอบต่อสังคม มีเสรีภาพทางวิชาการ มีความเป็นอิสระ มีความเสมอภาคและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการในพันธกิจดังนี้

              1. การจัดการศึกษา
              2. การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม
              3. การบริการวิชาการแก่สังคม
              4. การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 
              5. การบริหารจัดการตามอำนาจและหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด

•  รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย ลำดับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ดังนี้

              1.   จอมพลถนอม กิตติขจร (2514 – 2515)

              2.   พลเอกแสวง เสนาณรงค์ (2515 – 2517)

              3.   ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย (2517 – 2546)

              4.   นายประจวบ ไชยสาส์น (2546 – 2556)

              5.   นายวิรัช ชินวินิจกุล (8 พฤษภาคม 2556 – 3 มีนาคม 2561)

              6.   นายชีพ  จุลมนต์ (2561 - 2563)

              7.   นายวีระพล ตั้งสุวรรณ (2565 - ปัจจุบัน)

•  รายนามอธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจวบจนปัจจุบัน ดังนี้

              1.   ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์

              2.   ศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ

              3.   รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรมย์ ณ นคร

              4.   รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล

              5.   ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ โสภารัตน์

              6.   รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล

              7.   รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข

              8.   รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข

              9.   ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์

              10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สืบพงษ์ ปราบใหญ่

              11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ (รักษาราชการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบัน)

  คำขวัญของมหาวิทยาลัย:  คำขวัญของมหาวิทยาลัยได้มีขึ้นตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน ตามลำดับดังนี้

  • “รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ” เป็นคำขวัญคำแรกที่อดีตอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เป็นผู้คิดขึ้นเมื่อระยะแรกเริ่มมหาวิทยาลัย
  • “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” คำขวัญของมหาวิทยาลัยที่ชนะการประกวด เมื่อปี พ.ศ.  2527
  • “สร้างความรู้สู่สากล สร้างคนคู่คุณธรรม” เป็นคำขวัญที่ชนะการประกวดคำขวัญเนื่องในโอกาส 40 ปี รามคำแหง เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2554

          (จากนี้ ยังมีวลี ในยุคแรกเมื่อปี 2514 ที่ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เป็นอธิการบดี ที่ใช้ใน “ข่าวรามคำแหง” คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หรือ อตฺตา หิ อัตตาโน นาโถ” จึงเป็นคำที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องศึกษาโดยพึ่งพาตนเองมากที่สุดเพราะเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา จะมาเรียนก็มีชั้นเรียนให้ ไม่มาเรียนก็ศึกษาจากตำราและสื่อต่าง ๆ ด้วยตนเอง)

•  สีประจำคณะ/สาขาวิชา ดังนี้

              1.   คณะนิติศาสตร์                                         สีขาว

              2.   คณะบริหารธุรกิจ                                      สีฟ้า                

              3.   คณะมนุษยศาสตร์                                     สีแสด

              4.   คณะศึกษาศาสตร์                                      สีชมพู

              5.   คณะรัฐศาสตร์                                           สีแดงเข้ม

              6.   คณะวิทยาศาสตร์                                       สีเหลือง

              7.   คณะเศรษฐศาสตร์                                     สีม่วง

              8.   สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์                          สีเลือดหมู

              9.   สาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน        สีเขียวตองอ่อน

              10.  สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์                         สีเขียว

              11.  สาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์                          สีครีมทอง

              12.  สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์                 สีเทา

              13.  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์                      สีน้ำตาล

  เพลงมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยชุดเพลง 4 ชุด  ตามลำดับดังนี้

              1.   ชุดแรก...เมื่อปี 2518  จำนวน 14 เพลง

              2.   ชุด...เมื่อปี 25630  ชุดแสงทองที่ราม จำนวน 16 เพลง

              3.   ชุด...เมื่อปี 2543  ชุดสุพรรณิการ์ จำนวน 13 เพลง

              4.   ชุด...รามฯ 3 ทศวรรษ จำนวน 11 เพลง

  หน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ประกอบด้วย คณะ/สถาบัน และบัณฑิตวิทยาลัย ปัจจุบัน ประกอบด้วยคณะต่าง ๆ 13 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ คณะสื่อสารมวลชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ 1 สถาบัน ได้แก่ สถาบันการศึกษานานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีโครงการที่จะเปิดคณะใหม่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดแรงงาน 

•  สถาบัน/สำนัก ที่สนับสนุนการเรียนการสอนและการบริหาร ประกอบด้วย สำนัก สถาบัน จำนวน 13 หน่วยงาน ดังนี้ สำนักงานอธิการบดี สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล สำนักหอสมุดกลาง สำนักพิมพ์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา สำนักกีฬา สำนักประกันคุณภาพการศึกษา สถาบันคอมพิวเตอร์ สถาบันศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน สถาบันบริการวิชาการทางอิเล็กทรอนิกส์

              นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ และสำนักงานของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค อีก 23 หน่วยงาน ซึ่งสังกัดสำนักงานอธิการบดี

  หลักสูตรที่เปิดสอน: 

  • ระดับปริญญาตรี 
  • ระดับปริญญาโท
  • ระดับปริญญาเอก
  • การเลือกเรียนรายวิชา

  สถานที่ตั้ง:

  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ที่หัวหมาก กรุงเทพฯ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เป็นสถานที่ตั้งที่ทำการของทุกคณะ/สำนัก/สถาบันต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางการบริหารและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา (กรุงเทพฯ) ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ถนนบางนา – ตราด เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนกระบวนวิชาชั้นปีที่ 1 ของระดับปริญญาตรี และใช้เป็นสถานที่สอนระดับปริญญาโทบางโครงการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  • สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค ใน 23 จังหวัด ได้แก่ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาคจัดตั้งตามลำดับ ดังนี้ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุทัยธานี นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ นครพนม แพร่ นครราชสีมา สุโขทัย ขอนแก่น ศรีสะเกษ ตรัง ลพบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ อุดรธานี กาญจนบุรี สุรินทร์ เชียงราย สงขลา เชียงใหม่ และพังงา

  ศูนย์สอบ:

  • ศูนย์สอบในส่วนภูมิภาค 41 แห่ง (ใน 39 จังหวัด) การจัดสอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากจัดสอบที่ส่วนกลาง ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) และวิทยาเขตบางนาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีในส่วนภูมิภาคสอบใกล้บ้าน โดยจัดให้มีศูนย์สอบส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่าง ๆ ขึ้น ๓๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี เลย ลพบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง และพังงา
  • ศูนย์สอบในต่างประเทศ มีใน 32 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบและดำเนินการจัดสอบประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สาธารณรัฐฟินแลนด์ บาห์เรน รัฐสุลต่านโอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัฐกาตาร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม
  • ศูนย์สอบในต่างประเทศ มีจำนวน 41 แห่ง (ใน 32 ประเทศ) ซึ่งจัดสอบที่สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ ณ ประเทศนั้น ๆ ได้แก่ กรุงออตตาวา นครแวนคูเวอร์ กรุงวอชิงตัน ดี ซี นครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส นครชิคาโก กรุงบรัสเซลส์ กรุงปารีส กรุงเบอร์ลิน นครแฟรงก์เฟิร์ต กรุงเรคยาวิก กรุงโรม กรุงเฮก กรุงวอร์ซอ กรุงมาดริด กรุงเบิร์น กรุงเวียนนา กรุงลอนดอน กรุงโคเปนเฮเกน กรุงออสโล กรุงสตอกโฮล์ม กรุงเฮลซิงกิ กรุงมานามา กรุงมัสกัต นครดูไบ กรุงโดฮา กรุงแคนเบอร์รา นครซิดนีย์ กรุงเวลลิงตัน กรุงพนมเปญ กรุงนิวเดลี กรุงจาการ์ตา กรุงโตเกียว นครโอซากา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงโซล สิงคโปร์ กรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว  นครเซี่ยเหมิน นครโฮจิมินห์ (และยังจัดให้มีศูนย์สอบพิเศษที่ประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ)

•  สถาบันการศึกษานานาชาติ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเรียนที่สถาบันการศึกษานานาชาติ นอกจากนักศึกษาที่มาเรียนหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ในแต่ละปียังมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาเรียนรายวิชาอีกเป็นจำนวนมาก

  ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรต่างประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) จำนวน 20 ฉบับ ใน 12 ประเทศ

  ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรในประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ จำนวน 23 ฉบับ

  จำนวนนักศึกษาที่มีสถานภาพปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 137,452 คน (มิถุนายน 2565)

•  จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบัน (ถึงรุ่นที่ 47) รวมทั้งสิ้น 1,067,375  คน

  จำนวนบุคลากรของมหาวิทยาลัย  รวมทั้งสิ้น 3,748 คน (ประกอบด้วยสายวิชาการ 1,113 คน สายสนับสนุน 2,635 คน ข้อมูล ณ มิถุนายน 2565)

  จำนวนนักศึกษาจากต่างประเทศ:  รวมทั้งสิ้นประมาณ 258 กว่าคน

  จำนวนอาจารย์ชาวต่างประเทศ:  จำนวน 78 คน (อาจารย์ประจำ 56 คน อาจารย์พิเศษ 22 คน)

•  โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบด้วย

  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เปิดสอนภาคภาษาไทย และ โครงการภาษาอังกฤษ
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) เปิดสอนทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (วิทยาเขตบางนา) เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2562

     นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายโครงการโรงเรียนต้นแบบเข้าสู่ระบบสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงเต็มรูปแบบในส่วนภูมิภาค อีกหลายโรงเรียน

•  เว็บไซต์มหาวิทยาลัย คือ http://www.ru.ac.th

 

*******************************

แหล่งข้อมูล: หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จัดทำโดย: สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ต่างประเทศ

(ข้อมูล เดือนมิถุนายน 2565)

 

 

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์)

ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย

กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รักษาราชการแทน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

**************************************

 

 

แนะนำมหาวิทยาลัยโดยย่อ

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบ “ตลาดวิชา” มีปรัชญาการดำเนินงานเน้นการเปิดโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทย (ชื่อของมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยที่ได้ทรงริเริ่มคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้มีอักษรไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติไทยใช้กันต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้

           การก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้นนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาไม่มีที่เรียน เนื่องจากขณะนั้นมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีจำนวนไม่กี่แห่งและแต่ละแห่งก็จำกัดจำนวนรับ รามคำแหงจึงก่อตั้งขึ้นโดยให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบ “ตลาดวิชา” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้มีที่เรียน ได้เลือกเรียนสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งที่ผ่านมานับว่าเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยก็ได้ทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

           วันสำคัญที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงรำลึกอยู่ในความทรงจำตลอดมา คือ วันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน ปีพุทธศักราช 2518 เป็นวันมหามงคลยิ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) พร้อมทั้งพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ในวโรกาสมหามงคลยิ่งนี้ มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง นับแต่บัดนั้นมา)

           ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 52 ปี นับแต่เริ่มก่อตั้งมาในปี พ.ศ. 2514 และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 53 ปี ตามลำดับ

           ชาวรามคำแหงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทุกคน ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างหาที่สุดมิได้ตลอดมา...และจะสถิตอยู่ในดวงใจของชาวรามคำแหงทุกคน...ตลอดไป

           ในวันที่ 15 เดือนมกราคม ปีพุทธศักราช  2542 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพันธุ์ไม้ชื่อ “สุพรรณิการ์” (ฝ้ายคำ) ให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานพันธุ์ไม้ชื่อ “สุพรรณิการ์” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง

           พันธุ์ไม้นี้มีดอกสีเหลืองทองเช่นเดียวกับสีประจำของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขึ้นได้ดีในดินทุกภูมิภาคของประเทศไทย เปรียบเสมือนนักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ความอดทน สู้แดด และทนแล้งของต้นสุพรรณิการ์ จึงเปรียบเสมือนบัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่อดทนสู้งานอยู่ในทุกถิ่นที่และทุกสภาวการณ์อันเป็นที่ประจักษ์

           มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจหลักทั้ง 4 ประการของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังได้เพิ่มภารกิจที่ 5 คือ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มี “ความรู้คู่คุณธรรม”

           มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยมีจุดยืนและภารกิจทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ยึดหลักการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับสังคม มีคุณภาพมาตรฐานสูง และมีความเป็นสากล ผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์

           เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ มหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาควบคู่แบบจำกัดจำนวน

           อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม

           วิสัยทัศน์: มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นตลาดวิชาดิจิทัล ที่ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

           ค่านิยมองค์การ: ซื่อสัตย์  จริงใจ  โปร่งใส  ยุติธรรม  และภักดีต่อองค์กร

           ปรัชญา: ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม

           ปณิธาน: พัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นแหล่งวิทยาการแบบตลาดวิชาควบคู่แบบจำกัดจำนวน มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม และจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม

           พันธกิจมหาวิทยาลัยยึดหลักการจัดการอุดมศึกษา ในการรับผิดชอบต่อสังคม มีเสรีภาพทางวิชาการ มีความเป็นอิสระ มีความเสมอภาคและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการในพันธกิจดังนี้

                       1. การจัดการศึกษา
                       2. การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม
                       3. การบริการวิชาการแก่สังคม 
                       4. การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
                       5. การบริหารจัดการตามอำนาจและหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด

           มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างกว้างไกลอย่างทั่วถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยสองระบบ คือ จัดระบบการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย และระบบการสอนทางไกล โดยใช้สื่อต่าง ๆ ที่ทันสมัย จัดการเรียนการสอนครบทุกระดับ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ หลักสูตรทุกระดับของมหาวิทยาลัยมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน มีการจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งสามารถตรวจสอบได้

           ในการมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม มหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายจัดการเรียนการสอนวิชา “ความรู้คู่คุณธรรม” สำหรับนักศึกษารามคำแหงขึ้นทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยวิชาความรู้คู่คุณธรรมเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านคุณธรรม ช่วยปลูกฝังรากฐานอันดีงามของจิตใจ และปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษานำไปประพฤติปฏิบัติ สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นผู้ซึ่งรู้จักยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมนำชีวิต ช่วยเสริมคุณค่าให้นักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติต่อไป

           ปัจจุบันจำนวนหลักสูตรที่เปิดสอน จำแนกดังนี้
           ระดับปริญญาตรี
           ระดับปริญญาโท
           ระดับปริญญาเอก
           การเลือกเรียนรายวิชา

           ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาค ได้มีการจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค โดยเริ่มขึ้นในปี 2538 ปัจจุบันได้จัดตั้งขึ้นแล้วใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ ทุกแห่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน

           นอกจากนี้ ยังได้ขยายการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งความต้องการของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังจัดให้มีศูนย์สอบส่วนภูมิภาคสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี จำนวน 41 แห่งใน 39 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเลือกสอบใกล้บ้าน

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาแบบไร้พรมแดน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดก็สามารถเรียนกับรามคำแหงได้  มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนสำหรับชาวไทยในต่างประเทศ ใน 32 ประเทศ และจัดศูนย์สอบ 41 แห่งในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ การดำเนินการจัดสอบในต่างประเทศได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบและดำเนินการจัดสอบให้

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหน่วยงานในระดับคณะ/สถาบัน ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดการศึกษา ให้บริการด้านบริหาร วิชาการและการวิจัย ฯลฯ ประกอบด้วยคณะต่าง ๆ 13 คณะ และบัณฑิตวิทยาลัย

           นอกจากนี้ ยังมีสำนัก/สถาบัน  ซึ่งสนับสนุนการเรียนการสอน การบริหาร การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ รวม 14 หน่วยงาน มีสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ และมีสำนักงานของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาคทั้ง 23 แห่ง ซึ่งสังกัดสำนักงานอธิการบดี

           ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1/2555 มหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยความคิดริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้น ได้มีนโยบายการปรับระบบการวัด และประเมินผลของนักศึกษาจากเดิม ระบบ G P F เป็นระบบใหม่ A B C D มหาวิทยาลัยได้เริ่มใช้ระบบเกรด A B C D ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปสู่มาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สะดวกต่อการนำไปเทียบโอนหรือศึกษาต่อ ทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเองและนักศึกษาต่างสถาบันหรือนักศึกษาต่างประเทศที่มาเรียนที่รามคำแหง

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้ความสำคัญของการวิจัยควบคู่ไปกับการจัดการศึกษา ได้ส่งเสริมการวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เร่งพัฒนาการวิจัยของมหาวิทยาลัยทุกรูปแบบ และมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการวิจัยทุกสาขาและทุกระดับ นอกจากงบประมาณการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานภายนอกแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย โดยมีเป้าหมายของงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ อันจะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งผลิตนักวิจัยระดับสูงเพิ่มขึ้น ได้จัดตั้งศูนย์และหน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จัดทำวารสารวิจัยขึ้นทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีระดับและมาตรฐานสากล รวมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยไปสู่นานาชาติ

           ภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ การบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจวบจนปัจจุบัน มุ่งบริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างหลากหลายและกว้างไกลทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ มีการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ และพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตระหนักในความสำคัญของการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง โดยยึดหลักว่า “ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ...เท่ากับช่วยรักษาชาติไว้” ได้เร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้รู้จักคุณค่า ทำนุบำรุง อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมรดกที่ล้ำค่าของชาติ รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมไทยมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตลอดปีการศึกษา ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ ด้วยเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมอันดีงามจะช่วยปลูกฝังรากฐานอันดีงามของจิตใจ ช่วยเสริมคุณค่าให้บัณฑิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติต่อไป  

           การจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ สถาบันการศึกษาจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ความร่วมมือด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลายระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาตนเองสู่ความเป็นสากลและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้

           ในการมุ่งสู่ความเป็นสากล มหาวิทยาลัยได้ปรับบทบาททุกด้านมุ่งสู่ความเป็นสากล และให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ ได้กำหนดกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นสากล และเตรียมความพร้อมในการเป็นประชาคมอาเซียน ได้ขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั่วโลก มุ่งแข่งขันทางการศึกษากับนานาชาติ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรมและมีคุณภาพระดับสากล และมีเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ มีการลงนามความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย ฯลฯ ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรต่างประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) จำนวน 43 แห่ง ใน 12 ประเทศ ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรในประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ จำนวน 23 ฉบับ

           สถาบันการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำการเปิดสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทุกกระบวนวิชาของทุกหลักสูตรดำเนินการสอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ทางด้านการสอนสูงที่เชิญมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงชั้นนำทั่วโลก บรรยากาศการเรียนการสอนจึงเปรียบเสมือนยกห้องเรียนจากต่างประเทศมาไว้ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกเรียนที่สถาบันการศึกษานานาชาติ นอกจากนักศึกษาที่มาเรียนหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ยังมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาเรียนรายกระบวนวิชาระดับปริญญาตรีที่สถาบันการศึกษานานาชาติ

           ในแต่ละปี มีผู้สนใจทั้งนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกติดต่อมาดูงาน เยี่ยมชม การดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ/การวิจัยระหว่างสถาบัน การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ตลอดปีการศึกษา ผู้ที่มาเยือนมหาวิทยาลัยมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เอกอัครราชทูต อธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่

           ในการพัฒนาบุคลากรนั้น มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยตลอดมา โดยสนับสนุนให้ศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ จัดฝึกอบรมความรู้ด้านต่าง ๆ แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกระดับอย่างต่อเนื่องตลอดมา เช่น ภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการบริหาร สนับสนุนให้เข้าร่วมประชุมวิชาการ การเผยแพร่ผลงานวิชาการ/วิจัย การดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะได้รู้เท่าก้าวทันกับการพัฒนาทางด้านวิชาการ/วิจัย/การจัดการศึกษาของสถาบันอื่นทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเสริม เช่น การจัดประชุมสัมมนาระดับชาติและระดับนานาชาติที่มหาวิทยาลัยทุกปี การจัดนิทรรศการการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ สำหรับงบประมาณในการสนับสนุน เป็นงบประมาณของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเอง และแสวงหาทุนจากภายนอกมาเสริม เช่น จากหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

           การส่งเสริมให้ประชากรของมหาวิทยาลัยมีสุขภาพที่ดีและมีความเป็นเลิศทางด้านกีฬาถือเป็นนโยบายหลักประการหนึ่ง มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม ทางด้านการกีฬา พัฒนาการกีฬา ปรับปรุงสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยให้ทันสมัยและมาตรฐานสากล จัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการกีฬา ปัจจุบัน การกีฬาของมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้า สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมในการสร้างชื่อเสียงทางด้านการกีฬาให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย

           สำหรับนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้ความสำคัญของกิจกรรมนักศึกษาควบคู่กับของการศึกษาเล่าเรียน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษา โดยส่งเสริมให้นักศึกษาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่นักศึกษาและสังคมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพตลอดปีการศึกษา ให้นักศึกษาสามารถบริหารงาน ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา โดยจัดให้มีสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาบริหารงานกิจกรรมนักศึกษาด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการกิจกรรมของนักศึกษาทุก ๆ ปีมาโดยตลอด และจัดให้มีคณาจารย์ดูแลและให้คำปรึกษาการจัดกิจกรรมอย่างใกล้ชิด

           นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังให้บริการด้านสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับนักศึกษาควบคู่กับบริการด้านวิชาการ จัดสวัสดิการหลากหลายสำหรับบุคลากรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร ได้จัดให้มีหน่วยงานแพทย์และอนามัย สนามกีฬาและสถานที่ออกกำลังกาย ระบบการรักษาความปลอดภัย ระบบอินเทอร์เน็ต ธนาคารต่าง ๆ และตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM) หลากหลายตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ไปรษณีย์ หน่วยรักษาความปลอดภัย ศูนย์หนังสือ ศูนย์อาหาร ห้องอ่านหนังสือสำหรับนักศึกษาที่มีเครื่องปรับอากาศ สร้างซุ้มที่นั่งพักนักศึกษาขึ้นใหม่แทนซุ้มเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ติดตั้งสัญญาณ wifi ให้มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฯลฯ นักศึกษาและบุคลากรสามารถใช้สวัสดิการอย่างสะดวกสบาย ฯลฯ

           โครงการที่โดดเด่นที่สุดโครงการหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นเพื่อนักศึกษา คือ “โครงการหอพักติดดาว” มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่ก็ใส่ใจและห่วงใยนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่จะต้องพักอาศัยอยู่ตามหอพักใกล้มหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อการพักอยู่อย่างมีความสุข สะอาด และความปลอดภัยขณะที่เรียน รวมทั้งลดความกังวลของผู้ปกครองนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกก็ว่าได้ ที่ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตบางกะปิ สำนักงานเขตประเวศ สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก และสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพหอพักบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย ที่หัวหมากและที่วิทยาเขตบางนา ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของนักศึกษาที่พักอาศัยเหมือนลูกหลาน

           โดยมหาวิทยาลัยได้เชิญชวนผู้ประกอบการหอพักบริเวณมหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการ ฯ เพื่อรับการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดใน 5 ด้าน ได้แก่ การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หอพัก สุขอนามัย การให้บริการของหอพัก ความปลอดภัย และการจัดการของหอพัก ซึ่งหอพักที่ผ่านการรับรองจะได้รับการ “ติดดาว” จากมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ 3 ดาว (ดี) ระดับ 4 ดาว (ดีมาก) และระดับ 5 ดาว (ดีเยี่ยม) สำหรับโครงการ “หอพักติดดาว” ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 – ปัจจุบัน มีหอพักได้รับการ “ติดดาว” จำนวนร้อยกว่าแห่ง

           จากการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการโครงการ ฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทำให้หอพักบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย การดูแลผู้พักอาศัย การป้องกันปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ทำให้นักศึกษาได้พักอาศัยในหอพักที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองได้อย่างมีความสุข อีกทั้ง ผู้ปกครองยังมีความมั่นใจว่า ลูกหลานได้พักอาศัยในหอพักที่อบอุ่นและปลอดภัย

           นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ปรับระบบบริการให้เป็นแบบ Super Service มุ่งบริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้การบริการดีที่สุด ประทับใจที่สุด โดยเน้นว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษา ไม่ได้ขายสินค้า แต่ให้บริการการสอน/วิจัยและค้นคว้า บริการวิชาการแก่สังคม ฯลฯ ฉะนั้น การให้บริการต้องมีคุณภาพและทำให้ผู้รับบริการประทับใจอย่างที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น การรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย ได้นำระบบ One Stop Service มาใช้ในการรับสมัคร ซึ่งได้จัดระบบที่สะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

           แนวทางการดำเนินงานต่อไป มหาวิทยาลัยมีนโยบายเน้นมิติทางวิชาการ โดยเฉพาะคุณภาพทางวิชาการและส่งเสริมการวิจัย นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่จะมารองรับการจัดการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน จัดให้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน เช่น e-Book และ e-Testing จะต้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เทคโนโลยีมารองรับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

           มหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานและการบริการทางอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยอย่างเหมาะสมและสามารถบริการนักศึกษาจำนวนมากได้ โดยมีเว็บไซต์ ดังนี้

           • www.ru.ac.th เป็นเว็บไซต์หลักที่มีรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
           มหาวิทยาลัยยังได้ตระหนักในเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ได้มี “ประชาคมอาเซียน” เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเป็นประชาคมเดียวกัน การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนี้ จะมีข้อดีในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงเองมีส่วนในบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน จึงได้เร่งปรับตัว สร้างวิสัยทัศน์ และเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่ากับนานาประเทศ เน้นการสร้างคน สร้างนักศึกษาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพระดับสากล

           นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นให้บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงตระหนักในการที่ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และเตรียมความพร้อม ด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่จะต้องใช้สื่อสารในการทำงาน รวมทั้งต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรภาษาต่าง ๆ แก่บุคลากรและนักศึกษา ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้สนใจศึกษาและติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ให้รู้จักเรียนรู้และเข้าใจประเทศสมาชิกอาเซียนทุกด้านให้มาก ต้องรู้เขารู้เรา และให้เตรียมตัว เตรียมการ และเตรียมปรับบทบาทตั้งแต่บัดนี้

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการและการพัฒนามหาวิทยาลัย จัดการศึกษาก้าวไกลไร้พรมแดน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปฏิบัติภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พัฒนาก้าวไกล เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบในการให้โอกาสทางการศึกษาและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทยอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ

           ปัจจุบัน ถนนทุกสายได้มุ่งสู่ราม ฯ ซึ่งจะเห็นได้จากที่ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาต่างประเทศจากทั่วโลกหลั่งไหลกันเข้ามาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นจำนวนมากในทุกระดับการศึกษา ทั้งนี้ ด้วยความมั่นใจในความมีชื่อเสียงและมาตรฐานทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งสำหรับชาวรามคำแหงทุกคน

           มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนนักศึกษาหลายแสนคน และจากวันที่เริ่มก่อตั้งจวบจนปัจจุบันได้ผลิตบัณฑิตแล้วล้านกว่าคน ซึ่งบัณฑิตเหล่านี้ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติทั้งภาครัฐ เอกชนทั่วประเทศและทั่วโลก นับว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีบทบาทในการช่วยพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรบุคคลของชาติเป็นอย่างมาก

           บัณฑิตศิษย์เก่าราม ฯ ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และได้พิสูจน์ให้สังคมยอมรับและประจักษ์ในคุณภาพว่ามีความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ และมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่ได้ศึกษา ตลอดจนมีจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันที่ให้โอกาสทางการศึกษา สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย สมกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิต “บัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม” และมุ่งมั่นเพียรสอนศิษย์ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณค่า ให้ทุกคนมีความเข้มแข็งในวิชา ให้มีความก้าวหน้าเปี่ยมด้วยคุณธรรม นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสทางการศึกษากับชาวไทยผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ว่า “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง”

           กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้ง พ.ศ 2514 จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ได้ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการและการพัฒนามหาวิทยาลัย ช่วยสร้างอนาคตลูกหลานไทยให้สู่ความสำเร็จในการศึกษา นับว่าเป็นความสำเร็จที่สัมผัสได้...อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาการศึกษาของชาติ และรับใช้บ้านเมืองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

           การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ขยายโอกาสทางการอุดมศึกษาแก่ลูกหลานชาวไทยทั่วแผ่นดินไทยและกว้างไกลไปทั่วโลก โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะก่อเกิดแก่ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ ยึดหลักที่ว่า “การศึกษาสร้างคน…และคนสร้างชาติ” ทั้งนี้ เพื่อชาติไทยที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนจะได้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าก้าวไกลยิ่ง ๆ ขึ้นอย่างยั่งยืน…วัฒนา…สถาพร…สันติสุขสืบไป

 ********************************************** 

แหล่งข้อมูล: หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จัดทำโดย: สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ต่างประเทศ

 (ข้อมูล เดือนพฤศจิกายน 2565)

“เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง”

 

   โครงสร้างของมหาวิทยาลัย  

  

   โครงสร้างการบริหาร