ข้อมูลของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบ ตลาดวิชามีปรัชญาการดำเนินงานเน้นการเปิดโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทย (ชื่อของมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยที่ได้ทรงริเริ่มคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้มีอักษรไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติไทยใช้กันต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2568 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 54 ปี นับแต่เริ่มก่อตั้งมาในปี พ.ศ. 2514 และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2569 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 55 ปี ตามลำดับ

       มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจหลักทั้ง 4 ประการของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังได้เพิ่มภารกิจที่ 5 คือ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มี ความรู้คู่คุณธรรม

          มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยมีจุดยืนและภารกิจทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ยึดหลักการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับสังคม มีคุณภาพมาตรฐานสูง และมีความเป็นสากล ผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์

เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ มหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาควบคู่แบบจำกัดจำนวน

อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม

          มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างกว้างไกลอย่างทั่วถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยสองระบบ คือ จัดระบบการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย และระบบการสอนทางไกล โดยใช้สื่อต่าง ๆ ที่ทันสมัย จัดการเรียนการสอนครบทุกระดับ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ หลักสูตรทุกระดับของมหาวิทยาลัยมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน มีการจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งสามารถตรวจสอบได้

          ในการมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม มหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายจัดการเรียนการสอนวิชา “ความรู้คู่คุณธรรม” สำหรับนักศึกษารามคำแหงขึ้นทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ได้เปลี่ยนชื่อวิชาดังกล่าวเป็น “คุณธรรมคู่ความรู้” โดยวิชาดังกล่าวเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านคุณธรรม ช่วยปลูกฝังรากฐานอันดีงามของจิตใจ และปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษานำไปประพฤติปฏิบัติ สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นผู้ซึ่งรู้จักยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมนำชีวิต ช่วยเสริมคุณค่าให้นักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติต่อไป

          ปัจจุบันหลักสูตรที่เปิดสอน จำแนกดังนี้

            ระดับปริญญาตรี                               

ระดับปริญญาโท                             

ระดับปริญญาเอก                              

การเลือกเรียนรายกระบวนวิชา

ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาค ได้มีการจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค โดยเริ่มขึ้นในปี 2538 ปัจจุบันได้จัดตั้งขึ้นแล้วใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ ทุกแห่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ยังได้ขยายการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งความต้องการของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังจัดให้มีศูนย์สอบส่วนภูมิภาคสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี 41 แห่งใน 39 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเลือกสอบใกล้บ้าน

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาแบบไร้พรมแดน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดก็สามารถเรียนกับรามคำแหงได้  มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนสำหรับชาวไทยในต่างประเทศ ใน 32 ประเทศ และจัดศูนย์สอบ 41 แห่งในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ การดำเนินการจัดสอบในต่างประเทศได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบและดำเนินการจัดสอบให้

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหน่วยงานในระดับคณะ/สถาบัน ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดการศึกษา ให้บริการด้านบริหาร วิชาการและการวิจัย ฯลฯ ประกอบด้วยคณะต่าง ๆ 14 คณะ สถาบันการศึกษานานาชาติและบัณฑิตวิทยาลัย

          นอกจากนี้ ยังมีสำนัก/สถาบัน  ซึ่งสนับสนุนการเรียนการสอน การบริหาร การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ รวม 14 หน่วยงาน มีสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ และมีสำนักงานของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาคทั้ง 23 แห่ง ซึ่งสังกัดสำนักงานอธิการบดี

          ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1/2555 มหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยความคิดริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้น ได้มีนโยบายการปรับระบบการวัด และประเมินผลของนักศึกษาจากเดิม ระบบ G P F เป็นระบบใหม่ A B C D มหาวิทยาลัยได้เริ่มใช้ระบบเกรด A B C D ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปสู่มาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สะดวกต่อการนำไปเทียบโอนหรือศึกษาต่อ ทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเองและนักศึกษาต่างสถาบันหรือนักศึกษาต่างประเทศที่มาเรียนที่รามคำแหง

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้ความสำคัญของการวิจัยควบคู่ไปกับการจัดการศึกษา ได้ส่งเสริมการวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เร่งพัฒนาการวิจัยของมหาวิทยาลัยทุกรูปแบบ และมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการวิจัยทุกสาขาและทุกระดับ นอกจากงบประมาณการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานภายนอกแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย โดยมีเป้าหมายของงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ อันจะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งผลิตนักวิจัยระดับสูงเพิ่มขึ้น ได้จัดตั้งศูนย์และหน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จัดทำวารสารวิจัยขึ้นทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีระดับและมาตรฐานสากล รวมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยไปสู่นานาชาติ

          ภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ การบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจวบจนปัจจุบัน มุ่งบริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างหลากหลายและกว้างไกลทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ มีการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ และพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตระหนักในความสำคัญของการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง โดยยึดหลักว่า “ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ...เท่ากับช่วยรักษาชาติไว้” ได้เร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้รู้จักคุณค่า ทำนุบำรุง อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมรดกที่ล้ำค่าของชาติ รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมไทยมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตลอดปีการศึกษา ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ ด้วยเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมอันดีงามจะช่วยปลูกฝังรากฐานอันดีงามของจิตใจ ช่วยเสริมคุณค่าให้บัณฑิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติต่อไป  

          การจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ สถาบันการศึกษาจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ความร่วมมือด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลายระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาตนเองสู่ความเป็นสากลและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้

          ในการมุ่งสู่ความเป็นสากล มหาวิทยาลัยได้ปรับบทบาททุกด้านมุ่งสู่ความเป็นสากล และให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ ได้กำหนดกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นสากล และเตรียมความพร้อมในการเป็นประชาคมอาเซียน ได้ขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั่วโลก มุ่งแข่งขันทางการศึกษากับนานาชาติ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรมและมีคุณภาพระดับสากล และมีเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ มีการลงนามความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย ฯลฯ ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรต่างประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) จำนวน 21 แห่ง ใน 12 ประเทศ ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย/สถาบัน/องค์กรในประเทศที่มีการลงนามความร่วมมือ จำนวน 23 ฉบับ

          สถาบันการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำการเปิดสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทุกกระบวนวิชาของทุกหลักสูตรดำเนินการสอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ทางด้านการสอนสูงที่เชิญมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงชั้นนำทั่วโลก บรรยากาศการเรียนการสอนจึงเปรียบเสมือนยกห้องเรียนจากต่างประเทศมาไว้ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกเรียนที่สถาบันการศึกษานานาชาติ นอกจากนักศึกษาที่มาเรียนหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ยังมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาเรียนรายกระบวนวิชาระดับปริญญาตรีที่สถาบันการศึกษานานาชาติ

            ในแต่ละปี มีผู้สนใจทั้งนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกติดต่อมาดูงาน เยี่ยมชม การดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ/การวิจัยระหว่างสถาบัน การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ตลอดปีการศึกษา ผู้ที่มาเยือนมหาวิทยาลัยมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เอกอัครราชทูต อธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่

          ในการพัฒนาบุคลากรนั้น มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยตลอดมา โดยสนับสนุนให้ศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ จัดฝึกอบรมความรู้ด้านต่าง ๆ แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกระดับอย่างต่อเนื่องตลอดมา เช่น ภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการบริหาร สนับสนุนให้เข้าร่วมประชุมวิชาการ การเผยแพร่ผลงานวิชาการ/วิจัย การดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะได้รู้เท่าก้าวทันกับการพัฒนาทางด้านวิชาการ/วิจัย/การจัดการศึกษาของสถาบันอื่นทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเสริม เช่น การจัดประชุมสัมมนาระดับชาติและระดับนานาชาติที่มหาวิทยาลัยทุกปี การจัดนิทรรศการการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ สำหรับงบประมาณในการสนับสนุน เป็นงบประมาณของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเอง และแสวงหาทุนจากภายนอกมาเสริม เช่น จากหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          การส่งเสริมให้ประชากรของมหาวิทยาลัยมีสุขภาพที่ดีและมีความเป็นเลิศทางด้านกีฬาถือเป็นนโยบายหลักประการหนึ่ง มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม ทางด้านการกีฬา พัฒนาการกีฬา ปรับปรุงสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยให้ทันสมัยและมาตรฐานสากล จัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการกีฬา ปัจจุบัน การกีฬาของมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้า สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมในการสร้างชื่อเสียงทางด้านการกีฬาให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย

          สำหรับนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้ความสำคัญของกิจกรรมนักศึกษาควบคู่กับของการศึกษาเล่าเรียน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษา โดยส่งเสริมให้นักศึกษาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่นักศึกษาและสังคมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพตลอดปีการศึกษา ให้นักศึกษาสามารถบริหารงาน ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา โดยจัดให้มีสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาบริหารงานกิจกรรมนักศึกษาด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการกิจกรรมของนักศึกษาทุก ๆ ปีมาโดยตลอด และจัดให้มีคณาจารย์ดูแลและให้คำปรึกษาการจัดกิจกรรมอย่างใกล้ชิด

          นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังให้บริการด้านสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับนักศึกษาควบคู่กับบริการด้านวิชาการ จัดสวัสดิการหลากหลายสำหรับบุคลากรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร ได้จัดให้มีหน่วยงานแพทย์และอนามัย สนามกีฬาและสถานที่ออกกำลังกาย ระบบการรักษาความปลอดภัย ระบบอินเทอร์เน็ต ธนาคารต่าง ๆ และตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM) หลากหลายตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ไปรษณีย์ หน่วยรักษาความปลอดภัย ศูนย์หนังสือ ศูนย์อาหาร ห้องอ่านหนังสือสำหรับนักศึกษาที่มีเครื่องปรับอากาศ สร้างจุดที่นั่งพักนักศึกษาขึ้นใหม่แทนซุ้มเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ติดตั้งสัญญาณ wifi ให้มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฯลฯ นักศึกษาและบุคลากรสามารถใช้สวัสดิการอย่างสะดวกสบาย ฯลฯ

          นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ปรับระบบบริการให้เป็นแบบ Super Service มุ่งบริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้การบริการดีที่สุด ประทับใจที่สุด โดยเน้นว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษา ไม่ได้ขายสินค้า แต่ให้บริการการสอน/วิจัยและค้นคว้า บริการวิชาการแก่สังคม ฯลฯ ฉะนั้น การให้บริการต้องมีคุณภาพและทำให้ผู้รับบริการประทับใจอย่างที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น การรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย ได้นำระบบ One Stop Service มาใช้ในการรับสมัคร ซึ่งได้จัดระบบที่สะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็น e-University ได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการบริการผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

แนวทางการดำเนินงานต่อไป มหาวิทยาลัยมีนโยบายเน้นมิติทางวิชาการ โดยเฉพาะคุณภาพทางวิชาการและส่งเสริมการวิจัย นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่จะมารองรับการจัดการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน จัดให้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน เช่น e-Book และ e-Testing จะต้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เทคโนโลยีมารองรับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานและการบริการทางอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยอย่างเหมาะสมและสามารถบริการนักศึกษาจำนวนมากได้ โดยมีเว็บไซต์ ดังนี้

·  www.ru.ac.th                     เป็นเว็บไซต์หลักที่มีรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

·        www.m-learning.ru.ac.th    เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับ e-Learning ของมหาวิทยาลัย

          มหาวิทยาลัยยังได้ตระหนักในเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ได้มี ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเป็นประชาคมเดียวกัน การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนี้ จะมีข้อดีในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน

มหาวิทยาลัยรามคำแหงเองมีส่วนในบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน จึงได้เร่งปรับตัว สร้างวิสัยทัศน์ และเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่ากับนานาประเทศ เน้นการสร้างคน สร้างนักศึกษาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพระดับสากล

          นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นให้บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงตระหนักในการที่ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และเตรียมความพร้อม ด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่จะต้องใช้สื่อสารในการทำงาน รวมทั้งต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรภาษาต่าง ๆ แก่บุคลากรและนักศึกษา ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้สนใจศึกษาและติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ให้รู้จักเรียนรู้และเข้าใจประเทศสมาชิกอาเซียนทุกด้านให้มาก ต้องรู้เขารู้เรา และให้เตรียมตัว เตรียมการ และเตรียมปรับบทบาทตั้งแต่บัดนี้

          ปัจจุบัน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดตั้งขึ้นตามพันธกิจของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญตามพันธกิจดังกล่าว จากการศึกษาพบว่าประเทศชาติและสังคมโลกยังขาดแคลนบุคลากรสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและด้านสาธารณสุขโดยตรง แนวโน้มในอนาคตมีความต้องการบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตรทางด้านพยาบาลศาสตร์และการดูแลด้านสุขภาพ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่มีการเปลี่ยนแปลง ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานและอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี ๒๐๓๐ คือมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมดในประเทศและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของสังคม ในการพัฒนาด้านสาธารณสุข

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการและการพัฒนามหาวิทยาลัย จัดการศึกษาก้าวไกลไร้พรมแดน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปฏิบัติภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พัฒนาก้าวไกล เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบในการให้โอกาสทางการศึกษาและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทยอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ

          ปัจจุบัน ถนนทุกสายได้มุ่งสู่ราม ฯ ซึ่งจะเห็นได้จากที่ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาต่างประเทศจากทั่วโลกหลั่งไหลกันเข้ามาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นจำนวนมากในทุกระดับการศึกษา ทั้งนี้ ด้วยความมั่นใจในความมีชื่อเสียงและมาตรฐานทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งสำหรับชาวรามคำแหงทุกคน

          มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนนักศึกษาหลายแสนคน และจากวันที่เริ่มก่อตั้งจวบจนปัจจุบันได้ผลิตบัณฑิตแล้วล้านกว่าคน ซึ่งบัณฑิตเหล่านี้ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติทั้งภาครัฐ เอกชนทั่วประเทศและทั่วโลก นับว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีบทบาทในการช่วยพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรบุคคลของชาติเป็นอย่างมาก

          บัณฑิตศิษย์เก่าราม ฯ ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และได้พิสูจน์ให้สังคมยอมรับและประจักษ์ในคุณภาพว่ามีความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ และมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่ได้ศึกษา ตลอดจนมีจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันที่ให้โอกาสทางการศึกษา สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย สมกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิต บัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรมและมุ่งมั่นเพียรสอนศิษย์ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณค่า ให้ทุกคนมีความเข้มแข็งในวิชา ให้มีความก้าวหน้าเปี่ยมด้วยคุณธรรม นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสทางการศึกษากับชาวไทยผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ว่า เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง

         กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้ง พ.ศ 2514 จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ได้ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการและการพัฒนามหาวิทยาลัย ช่วยสร้างอนาคตลูกหลานไทยให้สู่ความสำเร็จในการศึกษา นับว่าเป็นความสำเร็จที่สัมผัสได้...อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาการศึกษาของชาติ และรับใช้บ้านเมืองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

          การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ขยายโอกาสทางการอุดมศึกษาแก่ลูกหลานชาวไทยทั่วแผ่นดินไทยและกว้างไกลไปทั่วโลก โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะก่อเกิดแก่ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ ยึดหลักที่ว่า การศึกษาสร้างคนและคนสร้างชาติทั้งนี้ เพื่อชาติไทยที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนจะได้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าก้าวไกลยิ่ง ๆ ขึ้นอย่างยั่งยืนวัฒนาสถาพรสันติสุขสืบไป

สำนักงานสาขาวิทยบริการฯ ต่างประเทศ

แหล่งข้อมูล: หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

(ข้อมูล เดือนกรกฎาคม 2567)

“เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง”