BangkokWashington D.C.Frankfurt      Sydney           Tokyo
March 2024
Mo Tu We Th Fr Sa Su
26 27 28 29 1 2 3
4 5 6 7 8 9 10
11 12 13 14 15 16 17
18 19 20 21 22 23 24
25 26 27 28 29 30 31

สำหรับเจ้าหน้าที่

ตารางบรรยายย้อนหลัง

   ประวัติความเป็นมาสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ  

ผู้ริเริ่มโครงการสาขาวิทยบริการฯ ต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข
อดีตอธิการบดีมหาหวิทยาลัยรามคำแหง


            จากการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก จึงได้มีชาวไทยเป็นจำนวนมากในประเทศต่างๆ ได้ติดต่อขอให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศ ดังนั้น ในปี ๒๕๔๖ ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยขณะนั้น (อธิการบดี คือ รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข) ประกอบกับความพร้อมหลาย ๆ ด้าน ได้ให้ความสำคัญของการให้โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ชาวไทยในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินการของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงมีนโยบายตอบสนองความต้องการของชาวไทยในการขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศ

             วัตถุประสงค์ในการขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศ มีดังนี้
 ๑.      เพื่อให้โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ชาวไทยในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
 ๒.      เพื่อขยายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงสู่ต่างประเทศให้กว้างขวางขึ้น
 ๓.      เพื่อนำการอุดมศึกษาไทยสู่สากลอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาการอุดมศึกษาไทยแข่งขันในเวทีการศึกษาโลก
          นำมหาวิทยาลัยไทยยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของนานาอารยประเทศ
 ๔.      เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
 ๕.      เพื่อสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและประเทศชาติให้กว้างไกลทั่วสากล
 ๖.      เพื่อเป้าหมายที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

             ในระยะแรกเริ่มมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ (รองศาสตราจารย์รำไพ  สิริมนกุล) เริ่มเตรียมการและดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการฯ และในเบื้องต้นได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานวิเทศสัมพันธ์” ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและดำเนินการไปก่อน ซึ่งมีหัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์ กองแผนงาน (น.ส. ปราณี เหมาะสุวรรณ) ช่วยดูแลการปฏิบัติงานภายในสำนักงานฯ ดังนั้น การเตรียมการและการดำเนินการจึงเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖

             มหาวิทยาลัยได้เริ่มรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีในต่างประเทศรุ่นแรกในภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๖ มีระบบการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอนและการจัดสอบในรูปแบบที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้เรียนในต่างประเทศ ได้ขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็วและพัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดซึ่งมีผู้สนใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกสมัครเรียนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัย

             การจัดสอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในต่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบ ดำเนินการจัดสอบและควบคุมการสอบ ณ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้สมัครเรียน

             มหาวิทยาลัยเห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงสู่สากล และเพื่อการบริหารการจัดการการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศให้พัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงมีนโยบายจัดตั้งสาขาวิทยบริการต่างประเทศขึ้น

             ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่ชาวไทยทั้งประเทศและทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้น้อมเกล้าถวายโครงการจัดตั้งสาขาวิทยบริการต่างประเทศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี พร้อม ๆ กับปวงชนชาวไทยทั่วประเทศและทั่วโลก และให้มีชื่อสาขาวิทยบริการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นว่า “สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ” โดยมุ่งการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ชาวไทยในต่างประเทศให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของโลก

             สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมติที่ประชุมฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๙ วาระที่ ๔.๑๐ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ได้อนุมัติจัดตั้ง “สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ” ขึ้น (โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Overseas Academic Services Center in Honour of His Majesty the King  และมีอักษรย่อ  OASC) ในระยะแรกยังไม่มีที่ทำการในต่างประเทศ แต่ให้มีที่ทำการของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เรียกว่า “สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ” (แทน “สำนักงานวิเทศสัมพันธ์” เดิม)

             ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๕/๒๕๔๙ วาระที่ ๔.๗ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ได้อนุมัติโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและหน้าที่ความรับผิดชอบ และกรอบอัตรากำลังของสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ

             ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นอธิการบดี ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๘/๒๕๕๕ วาระที่ ๔.๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้อนุมัติร่างข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งมีรายละเอียดข้อบังคับดังกล่าว ในข้อ ๖ ว่า “ให้จัดตั้งสาขาวิทยบริการสังกัดสำนักงานอธิการบดีอยู่ในการบังคับบัญชาของอธิการบดี และให้มีสำนักงานที่มีฐานะเทียบเท่ากอง” (คำว่าสาขาวิทยบริการ หมายถึง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ)

             โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการสำนักงานของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศขณะนั้น ประกอบด้วย งานบริหารและธุรการ งานสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาตรี งานสนับสนุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และงานสารนิเทศ

             สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การรับสมัคร การลงทะเบียน การจัดสอบ รวมทั้งการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย คณาจารย์ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในต่างประเทศ กิจกรรมนักศึกษา การประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ ฯลฯ

             ต่อมาในปี ๒๕๕๘ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ วาระที่ ๕.๑ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงานและระดับหน่วยภายในงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบ ในสำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ ดังนี้

             สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ แบ่งส่วนงานภายในสำนักงานฯ เป็น ๔ งาน ได้แก่ งานธุรการ งานบริการการศึกษาต่างประเทศ งานจัดสอบต่างประเทศ งานบริการสื่อการสอนต่างประเทศ และมีระดับหน่วยงานภายในแต่ละงาน ดังนี้

            ๑. งานธุรการ
            - หน่วยธุรการและบริหารทั่วไป
            - หน่วยการเงิน บัญชี และพัสดุ
            ๒. งานบริการการศึกษาต่างประเทศ
            - หน่วยบริการการศึกษา
            ๓. งานจัดสอบต่างประเทศ
            - หน่วยจัดสอบ
            ๔. งานบริการสื่อการสอนต่างประเทศ
            - หน่วยบริการสื่อการสอนและประกันคุณภาพการศึกษา

             มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ตามความต้องการของชาวไทยที่สนใจและสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันได้ขยายสู่ประเทศต่าง ๆ ๓๒ ประเทศ จัดให้มีศูนย์สอบ ๔๑ แห่งในประเทศเหล่านั้น การจัดสอบในต่างประเทศตั้งแต่แรกเริ่มจวบจนปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ในการให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบ ดำเนินการจัดสอบและควบคุมการสอบ ในประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้สมัครเรียน

             ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอบคุณอีกครั้งหนึ่งในความร่วมมือที่ได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศในการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่คนไทยในต่างประเทศและขอความอนุเคราะห์ดำเนินการต่อไป ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือตอบถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ กต. ๐๙๐๑/๒๓๕๒ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๕ เรื่อง ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่คนไทยในต่างประเทศ แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบว่า “กระทรวงการต่างประเทศยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนมหาวิทยาลัยรามคำแหงในการดำเนินโครงการในการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่คนไทยในต่างประเทศต่อไป เพื่อประโยชน์ในการขยายโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาไทยในต่างประเทศ” ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) ครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๕ วาระที่ ๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ได้รับทราบแล้ว  

             ปัจจุบัน ศูนย์สอบ ๔๑ แห่ง ในประเทศต่าง ๆ ๓๒ ประเทศ จำแนกเป็นดังนี้

             กลุ่มประเทศ                                         จำนวนประเทศ             จำนวนศูนย์สอบ

             อเมริกาเหนือและแคนาดา                              ๒                                   ๖
             ยุโรป                                                          ๑๕                                 ๑๖
             ตะวันออกกลาง                                             ๔                                    ๔
             ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์                             ๒                                   ๓
             เอเชีย                                                           ๙                                 ๑๒

ศูนย์สอบสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในต่างประเทศ  มี 41 แห่ง ใน 32 ประเทศ ดังต่อไปนี้

  1. ประเทศแคนาดา ณ กรุงออตตาวา  นครแวนคูเวอร์
  2. ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี นครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส  นครชิคาโก
  3. ประเทศเบลเยี่ยม ณ กรุงบรัสเซลส์
  4. ประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส
  5. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ณ กรุงเบอร์ลิน นครแฟรงก์เฟิร์ต
  6. ประเทศไอซ์แลนด์ ณ กรุงเรคยาวิก
  7. ประเทศอิตาลี ณ กรุงโรม
  8. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงเฮก
  9. ประเทศโปแลนด์ ณ กรุงวอร์ซอ
  10. ประเทศสเปน ณ กรุงมาดริด
  11. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ กรุงเบิร์น
  12. ประเทศออสเตรีย ณ กรุงเวียนนา
  13. ประเทศสหราชอาณาจักร ณ กรุงลอนดอน
  14. ประเทศเดนมาร์ก ณ กรุงโคเปนเฮเกน
  15. ประเทศนอร์เวย์ ณ กรุงออสโล
  16. ประเทศสวีเดน ณ กรุงสตอกโฮล์ม
  17. ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ กรุงเฮลซิงกิ
  18. ประเทศบาห์เรน ณ กรุงมานามา
  19. ประเทศรัฐสุลต่านโอมาน ณ กรุงมัสกัต
  20. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ เมืองดูไบ
  21. ประเทศรัฐกาตาร์ ณ กรุงโดฮา
  22. ประเทศออสเตรเลีย ณ กรุงแคนเบอร์รา นครซิดนีย์
  23. ประเทศนิวซีแลนด์ ณ กรุงเวลลิงตัน
  24. ประเทศกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ
  25. ประเทศอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี
  26. ประเทศอินโดนีเซีย ณ กรุงจาการ์ตา
  27. ประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว นครโอซากา
  28. ประเทศมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
  29. ประเทศเกาหลีใต้ ณ กรุงโซล
  30. ประเทศสิงคโปร์ ณ สิงคโปร์
  31. ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว เมืองเซี่ยเหมิน
  32. ประเทศเวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์
  33. นอกจากนี้ยังจัดให้มีศูนย์สอบประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ

หมายเหตุ: กรณีมีการเปลี่ยนแปลงศูนย์สอบ ให้ดูตามประกาศของมหาวิทยาลัย 

แหล่งข้อมูล: สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ต่างประเทศ

 

 

ประวัติความเป็นมา ปรัชญา ปณิธาน และวัตถุประสงค์ - วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
โครงสร้างการบริหาร - แผนปฏิบัติราชการที่อยู่สำนักงานฯ